มนุษย์เงินเดือนกับการซื้อบ้าน
ชีวิตมนุษย์เกิดมาครั้งหนึ่ง เชื่อว่าความฝันสูงสุดอย่างหนึ่งของทุกคนที่ต้องมีแทบจะเหมือนๆกัน นั้นก็คือ การได้มีบ้านเป็นของตนเอง โดยเฉพาะยามเมื่อคิดว่าจะมีครอบครัวที่ลงหลักปักฐานให้มั่นคงด้วยแล้วอีก..
เพราะฉะนั้นเรามาดูกันเถอะว่า ก่อนที่เราจะได้มีบ้านสักหลังนั้น สิ่งที่ต้องเตรียมตัวนั้นคืออะไรกันบ้าง..
ข้อที่ 1 เงินเก็บ
หากคุณคิดจะซื้อบ้านโดยไม่มีเงินเก็บ และหวังแค่ว่าจะมีเงินจากน้ำบ่อหน้าๆล่ะก็ ถือว่าคุณประมาทในการในชีวิตเป็นอย่างมาก จากเศษฐกิจในปัจจุบัน..คุณปฎิเสธได้หรือไม่ว่างานที่คุณทำอยู่จะมีรายได้คงที่อยู่ตลอด โบนัสของคุณจะออกได้เสมอไป..เพราะฉะนั้นอย่าได้หวังคิดแค่จะพึ่งน้ำบ่อหน้าเพียงอย่างเดียว แต่จงเก็บเงินเอาไว้ ให้มากเพื่อเป็นเงินสำรอง ทางที่ดีควรมีเงินอย่างน้อย 20% ของราคาบ้านที่เราต้องการจะซื้อ
เช่นราคาบ้านที่คุณต้องการคือ 1,800,000 บาท จะต้องมีเงินเก็บ 1,800,000 X 20% = 360,000 บาท ไว้เป็นค่าใช้จ่ายเผื่อไว้ในอนาคตที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
ข้อที่ 2 สำรวจหนี้สิน
หากคุณเป็นคนที่มีหนี้อยู่กับตัว ไม่ว่าจะเป็นหนี้ซื้อรถ หรือบัตรเครดิต ทางที่ดีคุณควรที่จะทำการปิดไปบางส่วนก่อน เช่นคุณเป็นหนี้ซื้อรถ ก็ควรจะผ่อนรถของคุณให้หมดก่อน เพื่อให้คุณเหลือเพียงแค่ผ่อนค่าบ้านในอนาคต เพราะคุณคงไม่อยากที่จะเหลือเงินเก็บเพียงน้อยนิดหรอกใช่ไหม?
พึ่งระลึกไว้ว่าเราไม่อยากมีหนี้เสียเกิดขึ้นในเครดิตของตัวเรา แม้ว่าจะมีคนบอกว่าการมีหนี้ คือมีเครดิต นั้นก็ไม่ผิด แต่ถ้าวันหนึ่งคุณจ่ายหนี้ไม่ได้แล้ว เครดิตจากนั้นคุณจะหายไปทันที และมันไม่ดีต่อสถาวะทางการเงินของคุณเลยจริงๆ
ข้อที่ 3 สำรวจรายได้ของตัวเอง
ก่อนที่คุณจะซื้อบ้าน คุณอาจจะไปเยี่ยมชมบ้านตามโครงการต่างๆที่มีอยู่มากมาย เก็บข้อมูลให้มากไม่ต้องรีบร้อน และเมื่อขัดเลือกแล้วว่าอยากได้บ้านไหนโครงการอะไร คุณก็มาสำรวจรายได้ที่มีในปัจจุบัน ว่าเหมาะสมกับค่างวดที่จะส่งหรือไม่
ตามหลักที่ว่า “ผู้กู้สามารถแบกรับภาระได้ไม่เกิน 40% ของรายได้เท่านั้น” เราก็ลองมาคำนวณกันว่าเราสามารถกู้ได้เท่าไร
ยกตัวอย่างเช่น เรามีเงินเดือนอยู่ที่ 15,000 บาท จะสามารถผ่านบ้านได้สูงสุด 15,000 X 40% = 6,000 บาท
เมื่อเราทราบแล้วว่าเราสามารถผ่อนชำระได้สูงสุดเท่าไรในแต่ละเดือน เราก็จะสามารถนำจำนวนเงินนั้นไปคำนวณหาวงเงินกู้สูงสุดที่เราสามารถกู้ได้
หลักการเบื้องต้นในการประเมินวงเงินกู้จะคิดจากจำนวนเงินที่ผู้กู้มีความสามารถผ่อนได้ในแต่ละงวดในอัตราส่วน จำนวนเงินผ่อนต่องวด 7,000 บาท ต่อยอดหนี้ 1 ล้านบาท
ยกตัวอย่างเช่น ผู้กู้มีความสามารถในการผ่อนชำระสูงสุด 6,000 บาทต่อเดือนจะสามารถขอกู้ในวงเงินได้สูงสุดเท่าไร
วงเงินกู้สูงสุด = (1,000,000 X 6,000) ÷ 7,000 = 857,142 บาท ตัดเป็นเลขกลมๆ ได้ 857,000 บาทที่จะเป็นวงเงินกู้ได้สูงสุด
ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ผู้ยื่นกู้นั้นมีภาระหนี้สินและรายได้ที่จะเข้ามาเพิ่มหรือไม่ อีกทั้งยังมีเรื่องระยะเวลาในการผ่อนชำระเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย หากให้ดีควรจะปรึกษาสถาบันการเงินที่เรารู้จักยิ่งได้พนักงานสินเชื่อที่มีฝีมือ การยื่นเรื่องขอกู้บ้านก็จะเป็นอะไรที่รวดเร็วและง่ายดายขึ้นมากทีเดียว
ข้อที่ 4 โปรโมชั่นดีใช่ว่าจะเชื่อได้เสมอไป
หลังจากที่เราสำรวจสิ่งที่อยู่รอบตัวเราทั้งหมดเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นเงินเก็บที่มีพร้อม หนี้สินที่ผ่อนทุกอย่างหมดแล้ว รายได้ที่มีมั่นคงดี สามารถจ่ายได้แน่นอนแล้ว เราก็เริ่มมาดูตามโครงการบ้านหรือคอนโดที่เราต้องการได้ในทันที โดยสิ่งที่เราควรระวังอย่าได้หลงเชื่อ คือคำบอก ‘ผ่อนดาวน์น้อย’ เพราะอย่าลืมว่าหลังจากการผ่อนดาวน์จบลงแล้ว เราจะต้องเจอกับยอดเงินที่ต้องกู้จากธนาคารจริงๆ อีกทั้งยิ่งเราผ่อนดาวน์นานเท่าไร ดอกเบี้ยก็ยิ่งเพิ่มไปเรื่อยๆ จำไว้ว่ายิ่งผ่อนนานเท่าไร ดอกเบี้ยก็ยิ่งมากตามนั้นไปด้วย
ข้อที่ 5 ศึกษาสืบประวัติพื้นที่บ้านจัดสรร
ก่อนที่เราจะซื้อบ้านสักหลัง เราก็ควรสืบประวัติที่ดินบริเวณโดยรอบเสยก่อนเพื่อความไม่ประมาท ในปัจจุบันมีอยู่มากที่หลายโครงการสร้างในที่ดินที่เคยเป็นนาข้าว ไปบ่อบัว และเจ้าของโครงการส่วนใหญ่หลังจากซื้อดินมาถมๆแล้วไม่ได้คิดรอเวลาให้ดินข้างใต้แน่นดีพอ ก็จัดสร้างเลยทันที ผู้ซื้อที่ไม่รู้เรื่อง ไปซื้ออยู่ไม่นาน บ้านทรุด..ทางโครงการไม่รับผิดชอบก็ซ่อมกันยาวไป..แบบนั้นคงไม่ดีแน่จริงไหม?..เพราะฉะนั้นควรตรวจสอบจากคนรอบข้างบ้านจัดสรรที่เราต้องตาอยากซื้อก่อนว่า เคยเป็นที่ดินแบบไหน และสร้างเมื่อไรยังไง..เพื่อไม่ต้องมาเสียเงินซ่อมภายหลัง
ข้อที่ 6 ซื้อบ้านที่ถูกใจ
การที่เราซื้อบ้านสักหลังก็นับว่าต้องใช้เงินลงทุนไปมากแล้ว..หากต้องมาเสียเงินต่อเติมให้ตรงใจเราอีกนั้น คงเป็นการผลาญเงินเก็บหรือเงินที่เราสามารถรวบรวมเอามาปิดค่าบ้านในอนาคตไปอีก เพราะฉะนั้นก่อนจะซื้อบ้าน เราควรแน่ใจแล้วว่าหลังนี้เราสามารถอยู่ได้เลย โดยไม่ต้องต่อเติม หรือต่อเติมก็เป็นการต่อเติมที่น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้เราเสียเงินไปกับจุดนี้ตั้งแต่เริ่ม
ข้อที่ 7 ตรวจสอบใบอนุญาตจัดสรร ก่อสร้าง
หลายคนอาจไม่ทราบว่ามีใบอนุญาตเช่นนี้ด้วย แน่นอนว่าการจะสร้างบ้านทำโครงการสักหนึ่งโครงการนั้น จะต้องมีกฎหมายข้อบังคับในการก่อสร้างอยู่แล้ว ยิ่งปัจจุบันที่มีการขยายทำหมู่บ้านมากยิ่งขึ้น ก็ยิ่งต้องมีการจัดแบ่งผังเมืองต่างๆ เพื่ออนาคต บ้างเจ้าของโครงการไม่ได้สนใจในเรื่องนี้ก่อสร้างและขายไปให้ผู้ซื้อเลย โดยผู้ซื้อไม่ทราบ และเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่าหมู่บ้านสร้างโดยไม่ขออนุญาต เราที่เป็นผู้ซื้อเนี้ยล่ะจะเดือดร้อน โดยส่วนใหญ่แล้วการก่อสร้างหมู่บ้านนั้นจะต้องไม่ติดเรื่องผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โดยเด็ดขาด
ข้อที่ 8 ก่อนจะรับโอนบ้านควรตรวจสอบการก่อสร้างให้เรียบร้อย
ด้วยเงินที่เราลงทุนไปนั้นไม่ใช้น้อย..ก่อนที่จะรับโอนบ้านมาเป็นของเรา เราต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าบ้านที่ซื้อนั้นอยู่ในสภาพที่ดี ไม่มีปัญหาเรื่องที่ต้องมาให้ซ่อมแซมภายหลังโดยเด็ดขาด ตรวจสอบว่าทุกอย่างใช้ได้ จากนั้นจึงค่อยรับโอน เพราะเมื่อบ้านเป็นของเราแล้ว การจะเรียกร้องใดๆเป็นไปได้ยาก
ข้อที่ 9 ตรวจสอบเอกสารสัญญาซื้อขายให้ดี
หลายคนไม่เคยแม้แต่จะอ่านหนังสือสัญญาซื้อขายให้ละเอียดเพราะเชื่อในชื่อเสียงของเจ้าของโครงการ หากแต่อย่าลืมไปนะว่า ทุกอย่างล้วนไว้ใจไม่ได้ เราควรอ่านให้ละเอียดทำความเข้าใจกับตัวสัญญาให้ตรงกัน เพื่อไม่ให้มีปัญหาฟ้องร้องกันภายหลัง เพราะเรื่องเงินทองๆ มักไม่เข้าใครออกใคร
สรุป
เป็นยังไงบ้างค่ะกับ 9 ข้อตั้งแต่เริ่มสำรวจตนเองไปจนถึงการซื้อบ้านแบบคราวๆที่ส่วนใหญ่เป็นข้อควรระวังเสียมาก ผู้เขียนเชื่อว่าการมีบ้านนั้นเป็นความฝันอันสูงสุดของใครหลายๆคน และคิดว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตามขอให้ทุกท่านก่อนที่จะซื้อบ้านหรือสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘หนี้สิน’ ให้กับตัวเอง ศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน ให้ตั้งคำถามและห้ามคำตอบในแต่ละเรื่อง การซื้อบ้านไม่ใช่การซื้อขนมเข้าบ้าน เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องรีบร้อน ค่อยๆพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้วจึงค่อยลงมือทำ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามนุษย์เงินเดือนทุกท่านจะโชคดีและมีบ้านตามที่ตนเองหวัง..ขอให้คุณโชคดี..